หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Victory Day

จากสถิติย้อนหลังไปหลายปี จะพบว่าตลาดหุ้นมักจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปี (ดูจากกราฟดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปี 2009-2012 )
 

ดังนั้นการลงทุน LTF/RMF ที่เราสามารถคำนวณได้คร่าวๆ อยู่แล้วว่าปีนี้จะต้องลงทุนเท่าไหร่ (เพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษี) นักลงทุนส่วนมากจึงนิยมซื้อเฉลี่ยแบบ DCA มาตลอดทั้งปี

แต่ปีนี้...2013....
มันหาได้เป็นเช่นนั้นไม่..........




 

แต่จริงๆ แล้วหัวใจของการลงทุนแบบ DCA คือ การกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนเพียงครั้งเดียว และเป็นการฝึกวินัยในการลงทุน รวมถึงลดภาระในการติดตามตลาดด้วย ซึ่งไม่ได้การันตีว่าการลงทุนแบบ DCA จะได้ราคาต่ำสุดเสมอไปนะจ๊ะ ... (แต่ปีนี้มันก็น่าแค้นใจจริงๆ แหละ สำหรับคนที่ DCA มาตลอดทั้งปี อิอิ)




 

วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เรียนรู้ลงทุนกับ ก.ล.ต. :: กองทุนรวมตราสารหนี้

ทำไมเม่าลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ แล้ว NAV ลดลงจนขาดทุนได้ล่ะ !!!!
ไหนบอกตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำไม่ใช่หรอ ...?!?!!

อันที่จริงแล้วการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ ถึงจะความเสี่ยงต่ำ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่นะจ๊ะ

กองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ ทั้งตราสารหนี้ภาครัฐเช่น
ตั๋วเงินคลัง  พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือตราสารหนี้อื่น ๆ ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน และ หุ้นกู้เอกชน ซึ่งมีทั้งตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) และตราสารหนี้ระยะยาว

การดูความเสี่ยงของกองทุนตราสารหนี้จึงต้องพิจารณาพอร์ตว่ากองทุนลงทุนในตราสารหนี้อะไรบ้าง  ผลตอบแทนมาจากความเสี่ยง หากเสี่ยงน้อย ผลตอบแทนก็น้อย หากเสี่ยงเยอะ ผลตอบแทนก็ควรจะเยอะตาม 

ซึ่งความเสี่ยงของตราสารหนี้ประกอบด้วย

1. ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย (interest rate risk) โดยการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในตลาดส่งผลกระทบต่อราคาตราสารหนี้ ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยมักจะวัดออกมาเป็นค่า duration หรือความอ่อนไหวของราคาต่ออัตราดอกเบี้ย ยิ่ง duration เยอะเสี่ยงเยอะ duration น้อยเสี่ยงน้อย ตรงนี้เป็นจุดที่เม่าโดนผลกระทบเต็ม ๆ
             
2. ความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ (credit risk)
การวัดเครดิตเรตติ้งมี 2 กลุ่ม ได้แก่
- Investment grade ตั้งแต่ BBB ขึ้นไปจนถึง AAA
- Non investment grade หรือ junk ตั้งแต่ BB ลงมาถึง D (default)

3. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (liquidity risk) คือ ความเสี่ยงที่ตราสารหนี้จะไม่สามารถขายในราคาที่เหมาะสม ในเวลาที่ต้องการได้

4. ความเสี่ยงอื่นๆ เช่น กองทุนรวมที่ไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศก็จะมีความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาวะทางการเมือง หรือเศรษฐกิจในประเทศที่ไปลงทุน ความเสี่ยงด้าน country risk รวมทั้งความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (foreign exchange risk) ด้วย 

ความเสี่ยงทั้งหมดจะสะท้อนออกมาที่ yield ที่ผู้ลงทุนคาดหวังจากการลงทุน 
เหตุที่ NAV กองทุนตราสารหนี้ที่เม่าลงทุนลดลงเพราะ yield ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาตราสารหนี้ลดลงนั่นเอง ในทางกลับกันก็มีโอกาสที่ราคาตราสารหนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้น หาก yield ลดลง ผู้ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิดจึงต้องระมัดระวัง เพราะราคา NAV จะปรับตาม yield เสมอ

ดังนั้นก่อนจะลงทุนในตราสารหนี้ ก็ต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนนะจ๊ะ ไม่งั้นเดี๋ยวจะหน้าแตกแบบเม่า ^^'




 

วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เรียนรู้ลงทุนกับ ก.ล.ต. :: กองทุนรวมหุ้น

มีหลายท่านอยากลงทุนในหุ้น แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไงดี หรือบางท่านอาจลงทุนในหุ้นอยู่แล้ว แต่ว่าไม่มีเวลาติดตามหุ้น ทำให้สภาพพอร์ตไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนมี โอกาสได้ลงทุนในหุ้นโดยมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลให้

"กองทุนรวมหุ้น (equity fund)" หรือ "กองทุนรวมตราสารทุน" คือ กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารทุนประเภทต่างๆ  เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ (warrants) รวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหุ้น ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม (คำนวณโดยเฉลี่ยในแต่ละรอบปีบัญชี)
 
นโยบายการลงทุน
     “กองทุนรวมหุ้น” มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายขึ้นอยู่กับ บลจ.หรือผู้จัดการกองทุน เช่น
- เลือกลงทุนในหุ้นขนาดเล็กที่มีอัตราการเติบโตสูง ผลการดำเนินงานดี และมีศักยภาพที่จะขยายกิจการได้อย่างดีในอนาคต
- หรือลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มั่นคง มีผลการดำเนินงานดี 
- หรือลงทุนในหุ้นของหมวดอุตสาหกรรมใดๆ


ผลตอบแทนและความเสี่ยง
กองทุนรวมหุ้นมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในกองทุนรวมประเภทอื่นๆ แต่ก็อย่าลืมว่าผลตอบแทนสูงย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงสูง
การลงทุนใน "กองทุนรวมหุ้น" อาจมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ที่กองทุนรวมไปลงทุน ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจและการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ การปรับเปลี่ยนนโยบายของภาครัฐที่มีผลต่อบริษัทที่ประกอบธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ อาจมีผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่กองทุนรวมไปลงทุน 
ความเสี่ยงจากการที่ผู้จัดการกองทุน วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตัดสินใจเลือกหุ้นและกำหนดสัดส่วนการกระจายการลงทุนไม่เหมาะสม หรือแม้แต่เลือกจังหวะการลงทุนผิดพลาด  แต่การที่กองทุนรวมหุ้นมีการกระจายการลงทุนไปในหุ้นหลายๆ ตัว ก็ยังช่วยกระจายหรือจำกัดความเสี่ยงได้ เพราะหากหุ้นตัวใดมีราคาลดลงก็ยังมีหุ้นตัวอื่นมาพยุงไว้

 
จะเลือกกองทุนรวมหุ้นที่ใช่ได้อย่างไร          
1. ให้เปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุนรวมหุ้นตัวที่เราสนใจกับตัวชี้วัดหรือ  Benchmark เช่น  ถ้ากองทุนรวมหุ้นทั่วไป  ก็ต้องเปรียบเทียบผลตอบแทนกับ  SET Index หรือถ้าเป็นกองทุนรวมหุ้นที่มีชื่อว่า  กอง  SET50  ก็ต้องเปรียบเทียบกับผลตอบแทน  SET50 Index การเปรียบเทียบดังกล่าวเป็นตัววัดว่าผู้จัดการกองทุนมีประสิทธิภาพแค่ไหน  และสามารถเอาชนะดัชนีชี้วัดได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ ผู้ลงทุนควรพิจารณาผลการดำเนินงานของผู้จัดการกองทุนมากกว่า 1 ปี โดยขึ้นอยู่กับระยะการลงทุนของผู้ลงทุน เพื่อให้เห็นความสม่ำเสมอของการบริหารกองทุนของผู้จัดการกองทุนที่กำลังพิจารณา

2. เปรียบเทียบค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมจัดการกองทุนด้วย เพราะบางปีกองทุนรวมทุกกองทุนเอาชนะ Benchmark หมด  ดังนั้น  ต้องเลือกกองทุนรวมหุ้นที่มีค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผลที่สุด

3. จะเลือกกองทุนรวมหุ้นแบบไหนระหว่างจ่ายปันผลกับไม่จ่ายปันผล  กองแบบที่จ่ายปันผล ข้อดี  คือ ได้ผลตอบแทนระหว่างการลงทุนเป็นระยะ เสมือนเป็นรายได้เพิ่มเข้ามา (แต่ถึงเวลาจริงจะได้หรือไม่ หรือได้เท่าไร  ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของกองทุนในรอบบัญชีนั้น  ๆ  ด้วย)  ข้อด้อย  คือ  เงินปันผลต้องถูกหักภาษี  ณ  ที่จ่าย  10%  ขณะที่กองไม่จ่ายปันผล  ไม่ต้องเสียภาษี  กำไรเวลาขายคืนหน่วยลงทุนก็ได้รับไปเต็ม  ๆ  แต่ระหว่างการลงทุนไม่มีเงินปันผล

ดูๆ แล้ววิธีการเลือกองทุนรวมหุ้นก็ไม่ยากเย็นอะไรเนอะ แล้วเม่าจะเลือกกองทุนรวมหุ้นกองไหนไปติดตามกันได้ในการ์ตูนจ้า