หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ข่าวดีในข่าวร้าย

สำหรับนักลงทุนที่นิยมลงทุนในหุ้นขนาดเล็กมากๆ หรือขนาดใหญ่มากๆ หุ้นเหล่านี้จะมีกฎเกณฑ์การซื้อขายที่ต่างจากหุ้นส่วนมากในตลาดหุ้น

ในปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีหุ้นที่เข้าเกณฑ์ "หุ้นตัวใหญ่" ไม่มาก ซึ่งนักลงทุนก็ไม่ลำบากอะไรในการทำตามกฎเกณฑ์ที่เป็นอยู่  แต่ถ้าวันหนึ่งหุ้นตัวใหญ่กำลังทำตัว "เล็กลง"
 หรือตัวเล็กทำตัว "ใหญ่ขึ้น" ข้อกำหนดหลายๆ อย่างก็อาจเปลี่ยนแปลงไป นักลงทุนควรทำความเข้าใจถึงกฏเกณฑ์ใหม่ เช่นช่วงราคา และหน่วยการซื้อขายขั้นต่ำ เพื่อให้การซื้อขายเป็นไปอย่างไม่ติดขัดนะคะ :-)

เป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ถือหุ้นตัวใหญ่ที่กำลังทำตัวเล็กลง...




ข้อมูลอ้างอิง
ช่วงราคา



การเปลี่ยนแปลงหน่วยการซื้อขายขั้นต่ำ 
จากประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การซื้อขายบนกระดานหลัก (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2542



ข้อ 4 ในกรณีที่หลักทรัพย์ใดมีราคาปิดในแต่ละวันทำการซื้อขายตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไปเป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน ตลาดหลักทรัพย์อาจพิจารณาให้เปลี่ยนหน่วยของหลักทรัพย์ ดังกล่าวเป็น 50 หุ้น หรือ 50 หน่วยลงทุน หรือ 50 สิทธิที่จะซื้อหุ้น แล้วแต่กรณี



ข้อ 5 ตลาดหลักทรัพย์อาจพิจารณาให้เปลี่ยนหน่วยของหลักทรัพย์ตามข้อ 4 เป็นหน่วยตามข้อ 3 ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ราคาปิดของหลักทรัพย์นั้นในแต่ละวันทำการซื้อขายต่ำกว่า 500 บาทเป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน หรือ

(2) มีเหตุการณ์อันอาจทำให้ราคาซื้อขายของหลักทรัพย์นั้นต่ำกว่า 500 บาท ในวันแรกที่มีเหตุการณ์ดังกล่าว

วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ใช้เงินทำงาน

หลายท่านที่ก้าวเข้ามาสู่โลกแห่งการลงทุน ด้วยแรงบันดาลใจจากวาทกรรม "ใช้เงินทำงาน" 

แต่ก่อนจะใช้เงินทำงานได้ อย่างแรก เราต้องมีเงินก่อน และเมื่อมีเงินเพียงพอที่จะสามารถใช้ทำงานได้แล้ว ต่อมาก็ต้องจัดหางานที่เหมาะสมให้เงิน ซึ่งหากเราให้เงินทำงานง่ายๆ ความเสี่ยงต่ำๆ เช่นนำเงินไปฝากธนาคาร แม้เงินจะอยู่ในสภาวะปลอดภัย แต่ก็จะได้ผลตอบแทนต่ำ  ถ้าเราให้เงินทำงานที่ยากขึ้น ความเสี่ยงสูงขึ้น ก็มีโอกาสจะได้ผลตอบแทนมากขึ้น แต่เงินก็จะอยู่ในสภาวะไม่ปลอดภัย เราควรต้องดูแลเงินที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ

การให้เงินทำงาน ฟังดูเหมือนจะเป็นชีวิตในอุดมคติ เพราะเราไม่ต้องเหนื่อยยากทำงานเอง ปล่อยให้เงินทำงานแทน แล้วเราก็เอาเวลาไปทำสิ่งที่เราอยากทำ แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ว่าเราจะไปลัลล้าอะโลฮ่าได้ตลอดเวลา เพราะเราต้องคอยกำกับดูแลการทำงานของเงิน ว่าเงินทำงานที่เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของเราจริงๆ หรือไม่ ประสิทธิภาพการทำงานดีพอไหม อยู่ในสภาวะอันตรายมากน้อยแค่ไหน รวมถึงต้องคอยดูแลให้เงินมีจำนวนมากพอที่จะทำงานให้เราได้ตลอดไป :-)

ขอบคุณแรงบันดาลใจจากชาวสินธรทุกท่าน ในกระทู้ http://www.pantip.com/cafe/sinthorn/topic/I12378944/I12378944.html ค่ะ





วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว

สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่...แม้จะศึกษาทฤษฏีมาอย่างดีแล้ว แต่พอลงสนามจริง ในระยะแรกๆ การลงทุนร้อยทั้งร้อยจะไม่เป็นไปตามระบบที่วางไว้ เพราะทั้งความวิตกกังวล ความเครียด ความกดดัน ฯลฯ ล้วนประดังเข้ามาพร้อมกัน เป็นคลื่นรบกวนการตัดสินใจของเราเป็นอย่างมาก

ดังนั้น นอกจากทฤษฏีที่ต้องศึกษาแล้ว ยังต้องฝึกควบคุมจิตใจ ไม่ให้เตลิดไปในตลาดหุ้น ซึ่งการควบคุมจิตใจ นอกจากการฝึกสมาธิแล้ว ยังต้องอาศัยประสบการณ์จริงในการลงทุน ที่จะช่วยหล่อหลอมให้เรานิ่งขึ้น ซึ่งความนิ่งสงบนี้...ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ได้อย่างเยือกเย็นขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว...

เอาล่ะ...เรามาฝึกควบคุมจิตใจไปพร้อมกับเม่ากันเถอะค่ะ :-)  



วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประชุมผู้ถือหุ้น

การประชุมผู้ถือหุ้นเป็นสิทธิ์อย่างหนึ่งของผู้ถือหุ้นที่ครอบครองหุ้นก่อนวันขึ้นเครื่องหมาย XM (Excluding Meetings) โดยปกติการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นจะจัดขึ้นปีละครั้งประมาณเดือน มีนาคม - เมษายน (ภายใน 4 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชีบริษัท)
ก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นจะเริ่มขึ้น จะมีหนังสือนัดประชุมและเอกสารวาระการประชุมต่างๆ ส่งไปที่บ้าน ทั้งนี้หากผู้ถือหุ้นไม่สะดวกที่จะเข้าร่วมประชุมในวันเวลาดังกล่าว (ซึ่งมักเป็นวันทำงาน) ภายในจดหมายจะมีหนังสือมอบฉันทะให้ผู้อื่นไปแทนได้

การประชุมผู้ถือหุ้น เป็นโอกาสดีของนักลงทุนที่จะได้รู้จักเห็นหน้าค่าตาของผู้บริหาร ติดตามผลการดำเนินการที่ผ่านมา และ การลงทุนในอนาคตของบริษัท รวมถึงมีสิทธิ์ออกเสียงในมติที่ประชุมต่างๆ มีโอกาสได้ซักถามข้อสงสัย รวมถึงมีสิทธิ์เสนอวาระการประชุม

ทั้งที่ตามมารยาทของการประชุมผู้ถือหุ้น ไม่ควรพาเพื่อนสนิทมิตรสหายที่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นไปด้วยนะคะ และบางบริษัทจะมีของที่ระลึกมอบให้ผู้เข้าร่วมประชุม หรืออาจมีการเลี้ยงอาหาร ซึ่งงบของการจัดงานประชุม ของที่ระลึก และงานเลี้ยงเหล่านี้ ก็ล้วนมาจากกำไรของบริษัทของเราทั้งนั้นแหละค่ะ ^_^

การประชุมผู้ถือหุ้นเป็นเวทีที่ทำให้ผู้ถือหุ้นมีโอกาสตรวจสอบและร่วมบริหารกิจการของตน เป็นสิทธิ์ที่ไม่ควรละเลยนะคะ