หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

Engagement

อาจจะมีนักลงทุนบางท่าน ที่ถือหุ้นสักตัวมาเป็นระยะเวลานานๆ (กว่าที่คิดไว้ตอนแรก) ด้วยคาดหวังว่ามันจะเป็นไปตามที่เราตั้งเป้าหมายไว้ในสักวัน ระยะเวลาและหนทางแห่งการรอคอยที่แสนยาวนานและเต็มไปด้วยความฝันและความหวังนั้น บางครั้งก็เจ็บปวด ไม่ได้ผลตอบแทนอย่างที่วางแผนไว้ แต่ด้วยอีโก้มั่นใจในการวิเคราะห์ของตัวเอง หรือความผูกพัน หรือแรงยุจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะสาเหตุใด เราเลือกที่จะ "ถือต่อ"

ในวันที่หุ้นมีข่าวร้ายประดังเข้ามามากมาย ก็พลันมีวลี "ข่าวร้ายต้องซื้อเพิ่ม" เข้ามาในหัว เช่นนี้แล้ว เจ้าหุ้นตัวนี้ก็ยังคงนอนอยู่ในพอร์ตเรา แถมยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน หุ้นตัวอื่นหมุนเวียนเปลี่ยนเข้ามาและจากไปหลายรอบ แต่เจ้าหุ้นตัวนี้ก็ยังอยู่กับเราไม่ไปไหน ทรงกับทรุดอยู่เคียงข้างเรา

และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ความทุกข์ก็สิ้นสุดลง ไม่ใช่ว่าหุ้นขึ้นตามเป้าหมาย แต่เป็นเพราะเราทำใจได้แล้วว่าสิ่งที่เราคาดหวังไว้เป็นเพียงภาพลวงตาจากอนาคต(อาจจะอีกหลายสิบปีข้างหน้า) ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงในเร็ววันนี้แน่นอน แต่การจะคัทลอทออกไปในตอนนี้ก็เหมือนเป็นเรื่องไม่จำเป็นแล้ว บางครั้งเราก็มีความสุข เพลิดเพลินไปกับการได้เห็นการค่อยๆ ไต่ราคากลับมาอย่างเชื่องช้าของหุ้นตัวนี้อย่างใกล้ชิดทุกๆ วันที่เปิดพอร์ต

เพราะฟันฝ่าอุปสรรคมาด้วยกันได้ขนาดนี้...จนทำใจได้แล้ว เราก็เลยเลือกที่จะถือต่อ
แต่ดันลืมไปว่า...พายุมักเกิดในฤดูมรสุม และในฤดูมรสุม การก่อตัวของพายุไม่ได้มีเพียงลูกเดียว

ปล. การ์ตูนตอนนี้ใช้ทุนสร้างสูงมาก หวังว่าทุกท่านจะได้ประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย T_T




วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

กลยุทธ์ถัวเฉลี่ย

นักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นมาได้สักพัก คงจะต้องเคย "ซื้อถัว" คือการซื้อหุ้นตัวเดิมเพิ่มเข้าไป เช่นในครั้งแรก ซื้อหุ้น AAA ราคา 10 บาท จำนวน 1000 หุ้น ต่อมา หุ้น AAA ปรับตัวลดลงเหลือ 8 บาท จึงทำการซื้อเพิ่มอีก 1000 หุ้น ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 9 บาท

ซึ่งกลยุทธ์ถัวเฉลี่ยนี้มีการกล่าวถึงในหนังสือการลงทุนหลายเล่ม แต่การลงทุนแนวเทคนิคจะกล่าวอย่างหนึ่ง ส่วนการลงทุนแนวแนวเน้นคุณค่าจะกล่าวอีกอย่างหนึ่ง หากนักลงทุนยังไม่สามารถหาสไตล์การลงทุนของตัวเองเจอ อ่านเข้าไปมากๆ ก็อาจสับสนได้

เพราะการลงทุนแนวเทคนิคเป็นการเล่นตาม Trend ขาขึ้น จึงจะไม่มีการถัวเฉลี่ยขาลง แต่ใช้การ Cut loss แทน เมื่อหุ้นมีราคาลดลง ถือเป็นการเลือกหุ้นผิดตัว แต่อาจจะมีการถัวเฉลี่ยขาขึ้นได้ แม้จะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น แต่โดยรวมต้นทุนเฉลี่ยก็ยังต่ำกว่าราคาตลาด

สำหรับการลงทุนแนวเน้นคุณค่า การซื้อหุ้นจะเลือกหุ้นที่มีมูลค่าตลาดต่ำกว่าราคาที่เหมาะสมในขณะนั้นภายใต้ความเชื่อที่ว่า ในระยะยาวราคาหุ้นจะสะท้อนความเป็นจริง บ่อยครั้งที่นักลงทุนแนว VI ซื้อหุ้นแล้วหุ้นปรับตัวลงไปอีก เนื่องจากช่วงที่หุ้นมีมูลค่าต่ำกว่าราคาเหมาะสมนั้น ในทางเทคนิคมักเป็น Trend ขาลง ซึ่งไม่มีใครรู้จุดต่ำสุดของมัน แต่ถ้านักลงทุนมีความเชื่อมั่นในกิจการ เมื่อราคายังต่ำกว่าราคาเหมาะสม ก็ทำการซื้อเฉลี่ยได้ (ทั้งขาขึ้นและขาลง) แต่การซื้อเฉลี่ยขาลงก็ควรทำด้วยความระมัดระวัง เพราะเราเองไม่ใช่เจ้าของกิจการที่แท้จริงแต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้น ที่อาจไม่ทราบข่าววงใน หรือการวิเคราะห์ราคาเหมาะสมของเราอาจจะผิดก็ได้ เพราะหุ้นบางตัวเมื่อลงมาแล้ว ผ่านไปหลายสิบปีก็ยังไม่สามารถกลับไปยังราคาเดิมได้อีกเลย

ในแง่ของสุขภาพจิต การซื้อเฉลี่ยขาลง แม้ทำให้ต้นทุนต่ำลงก็จริง แต่เราก็ยังต้องเฝ้าดูพอร์ตแดงด้วยมูลค่าที่เพิ่มขึ้นทุกวัน โดยไม่รู้ว่าก้นบึ้งมันอยู่ที่ไหน (หรืออาจจะไร้ก้นบึ้งเลยก็ได้) ในจังหวะหนึ่ง เราจะสูญเสียความมั่นใจ เกิดจินตนาการในทางลบ อาจจะแย่จนกระทั่งถือต่อไม่ไหว ในทางกลับกัน การซื้อเฉลี่ยขาขึ้น แม้ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่ก็ชื่นใจทุกครั้งที่เปิดดู มีกำลังใจในการต่อสู้ชีวิตต่อไป

อ่านการ์ตูนตอนนี้จบแล้ว คุณเลือกที่จะซื้อเฉลี่ยขาขึ้นหรือขาลงคะ :-) ?