หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Victory Day

จากสถิติย้อนหลังไปหลายปี จะพบว่าตลาดหุ้นมักจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปี (ดูจากกราฟดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปี 2009-2012 )
 

ดังนั้นการลงทุน LTF/RMF ที่เราสามารถคำนวณได้คร่าวๆ อยู่แล้วว่าปีนี้จะต้องลงทุนเท่าไหร่ (เพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษี) นักลงทุนส่วนมากจึงนิยมซื้อเฉลี่ยแบบ DCA มาตลอดทั้งปี

แต่ปีนี้...2013....
มันหาได้เป็นเช่นนั้นไม่..........




 

แต่จริงๆ แล้วหัวใจของการลงทุนแบบ DCA คือ การกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนเพียงครั้งเดียว และเป็นการฝึกวินัยในการลงทุน รวมถึงลดภาระในการติดตามตลาดด้วย ซึ่งไม่ได้การันตีว่าการลงทุนแบบ DCA จะได้ราคาต่ำสุดเสมอไปนะจ๊ะ ... (แต่ปีนี้มันก็น่าแค้นใจจริงๆ แหละ สำหรับคนที่ DCA มาตลอดทั้งปี อิอิ)




 

วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เรียนรู้ลงทุนกับ ก.ล.ต. :: กองทุนรวมตราสารหนี้

ทำไมเม่าลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ แล้ว NAV ลดลงจนขาดทุนได้ล่ะ !!!!
ไหนบอกตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำไม่ใช่หรอ ...?!?!!

อันที่จริงแล้วการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ ถึงจะความเสี่ยงต่ำ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่นะจ๊ะ

กองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ ทั้งตราสารหนี้ภาครัฐเช่น
ตั๋วเงินคลัง  พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือตราสารหนี้อื่น ๆ ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน และ หุ้นกู้เอกชน ซึ่งมีทั้งตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) และตราสารหนี้ระยะยาว

การดูความเสี่ยงของกองทุนตราสารหนี้จึงต้องพิจารณาพอร์ตว่ากองทุนลงทุนในตราสารหนี้อะไรบ้าง  ผลตอบแทนมาจากความเสี่ยง หากเสี่ยงน้อย ผลตอบแทนก็น้อย หากเสี่ยงเยอะ ผลตอบแทนก็ควรจะเยอะตาม 

ซึ่งความเสี่ยงของตราสารหนี้ประกอบด้วย

1. ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย (interest rate risk) โดยการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในตลาดส่งผลกระทบต่อราคาตราสารหนี้ ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยมักจะวัดออกมาเป็นค่า duration หรือความอ่อนไหวของราคาต่ออัตราดอกเบี้ย ยิ่ง duration เยอะเสี่ยงเยอะ duration น้อยเสี่ยงน้อย ตรงนี้เป็นจุดที่เม่าโดนผลกระทบเต็ม ๆ
             
2. ความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ (credit risk)
การวัดเครดิตเรตติ้งมี 2 กลุ่ม ได้แก่
- Investment grade ตั้งแต่ BBB ขึ้นไปจนถึง AAA
- Non investment grade หรือ junk ตั้งแต่ BB ลงมาถึง D (default)

3. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (liquidity risk) คือ ความเสี่ยงที่ตราสารหนี้จะไม่สามารถขายในราคาที่เหมาะสม ในเวลาที่ต้องการได้

4. ความเสี่ยงอื่นๆ เช่น กองทุนรวมที่ไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศก็จะมีความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาวะทางการเมือง หรือเศรษฐกิจในประเทศที่ไปลงทุน ความเสี่ยงด้าน country risk รวมทั้งความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (foreign exchange risk) ด้วย 

ความเสี่ยงทั้งหมดจะสะท้อนออกมาที่ yield ที่ผู้ลงทุนคาดหวังจากการลงทุน 
เหตุที่ NAV กองทุนตราสารหนี้ที่เม่าลงทุนลดลงเพราะ yield ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาตราสารหนี้ลดลงนั่นเอง ในทางกลับกันก็มีโอกาสที่ราคาตราสารหนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้น หาก yield ลดลง ผู้ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิดจึงต้องระมัดระวัง เพราะราคา NAV จะปรับตาม yield เสมอ

ดังนั้นก่อนจะลงทุนในตราสารหนี้ ก็ต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนนะจ๊ะ ไม่งั้นเดี๋ยวจะหน้าแตกแบบเม่า ^^'




 

วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เรียนรู้ลงทุนกับ ก.ล.ต. :: กองทุนรวมหุ้น

มีหลายท่านอยากลงทุนในหุ้น แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไงดี หรือบางท่านอาจลงทุนในหุ้นอยู่แล้ว แต่ว่าไม่มีเวลาติดตามหุ้น ทำให้สภาพพอร์ตไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนมี โอกาสได้ลงทุนในหุ้นโดยมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลให้

"กองทุนรวมหุ้น (equity fund)" หรือ "กองทุนรวมตราสารทุน" คือ กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารทุนประเภทต่างๆ  เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ (warrants) รวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหุ้น ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม (คำนวณโดยเฉลี่ยในแต่ละรอบปีบัญชี)
 
นโยบายการลงทุน
     “กองทุนรวมหุ้น” มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายขึ้นอยู่กับ บลจ.หรือผู้จัดการกองทุน เช่น
- เลือกลงทุนในหุ้นขนาดเล็กที่มีอัตราการเติบโตสูง ผลการดำเนินงานดี และมีศักยภาพที่จะขยายกิจการได้อย่างดีในอนาคต
- หรือลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มั่นคง มีผลการดำเนินงานดี 
- หรือลงทุนในหุ้นของหมวดอุตสาหกรรมใดๆ


ผลตอบแทนและความเสี่ยง
กองทุนรวมหุ้นมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในกองทุนรวมประเภทอื่นๆ แต่ก็อย่าลืมว่าผลตอบแทนสูงย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงสูง
การลงทุนใน "กองทุนรวมหุ้น" อาจมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ที่กองทุนรวมไปลงทุน ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจและการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ การปรับเปลี่ยนนโยบายของภาครัฐที่มีผลต่อบริษัทที่ประกอบธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ อาจมีผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่กองทุนรวมไปลงทุน 
ความเสี่ยงจากการที่ผู้จัดการกองทุน วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตัดสินใจเลือกหุ้นและกำหนดสัดส่วนการกระจายการลงทุนไม่เหมาะสม หรือแม้แต่เลือกจังหวะการลงทุนผิดพลาด  แต่การที่กองทุนรวมหุ้นมีการกระจายการลงทุนไปในหุ้นหลายๆ ตัว ก็ยังช่วยกระจายหรือจำกัดความเสี่ยงได้ เพราะหากหุ้นตัวใดมีราคาลดลงก็ยังมีหุ้นตัวอื่นมาพยุงไว้

 
จะเลือกกองทุนรวมหุ้นที่ใช่ได้อย่างไร          
1. ให้เปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุนรวมหุ้นตัวที่เราสนใจกับตัวชี้วัดหรือ  Benchmark เช่น  ถ้ากองทุนรวมหุ้นทั่วไป  ก็ต้องเปรียบเทียบผลตอบแทนกับ  SET Index หรือถ้าเป็นกองทุนรวมหุ้นที่มีชื่อว่า  กอง  SET50  ก็ต้องเปรียบเทียบกับผลตอบแทน  SET50 Index การเปรียบเทียบดังกล่าวเป็นตัววัดว่าผู้จัดการกองทุนมีประสิทธิภาพแค่ไหน  และสามารถเอาชนะดัชนีชี้วัดได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ ผู้ลงทุนควรพิจารณาผลการดำเนินงานของผู้จัดการกองทุนมากกว่า 1 ปี โดยขึ้นอยู่กับระยะการลงทุนของผู้ลงทุน เพื่อให้เห็นความสม่ำเสมอของการบริหารกองทุนของผู้จัดการกองทุนที่กำลังพิจารณา

2. เปรียบเทียบค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมจัดการกองทุนด้วย เพราะบางปีกองทุนรวมทุกกองทุนเอาชนะ Benchmark หมด  ดังนั้น  ต้องเลือกกองทุนรวมหุ้นที่มีค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผลที่สุด

3. จะเลือกกองทุนรวมหุ้นแบบไหนระหว่างจ่ายปันผลกับไม่จ่ายปันผล  กองแบบที่จ่ายปันผล ข้อดี  คือ ได้ผลตอบแทนระหว่างการลงทุนเป็นระยะ เสมือนเป็นรายได้เพิ่มเข้ามา (แต่ถึงเวลาจริงจะได้หรือไม่ หรือได้เท่าไร  ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของกองทุนในรอบบัญชีนั้น  ๆ  ด้วย)  ข้อด้อย  คือ  เงินปันผลต้องถูกหักภาษี  ณ  ที่จ่าย  10%  ขณะที่กองไม่จ่ายปันผล  ไม่ต้องเสียภาษี  กำไรเวลาขายคืนหน่วยลงทุนก็ได้รับไปเต็ม  ๆ  แต่ระหว่างการลงทุนไม่มีเงินปันผล

ดูๆ แล้ววิธีการเลือกองทุนรวมหุ้นก็ไม่ยากเย็นอะไรเนอะ แล้วเม่าจะเลือกกองทุนรวมหุ้นกองไหนไปติดตามกันได้ในการ์ตูนจ้า




 

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เรียนรู้ลงทุนกับ ก.ล.ต. :: กระทบไหล่ LTF


 LTF (Long Term Equity Fund) หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาวเป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้น
ระยะยาว ไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยผู้ลงทุนใน LTF จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจในการลงทุน เมื่อลงทุนแล้วต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน โดยอาจมีการจ่ายเงินปันผล หรือไม่มีการจ่ายเงินปันผลคืนให้แก่ผู้ลงทุนก็ได้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดนโยบายการลงทุนของ LTF กองนั้นๆ

เงื่อนไขการลงทุน
การลงทุน LTF เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี มีเงื่อนไขว่า ต้องซื้อและถือหน่วยลงทุนของ LTF
ไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน โดยนับแยกกันไปในแต่ละก้อนเงินที่ลงทุน และไม่จำเป็นต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกปี เช่น เงินลงทุนแต่ละยอดที่ซื้อในปี 2549 จะครบเงื่อนไขตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 เป็นต้นไป และส่วนที่ลงทุนในปี 2550 จะครบเงื่อนไขตั้งแต่เดือนมกราคม 2554  เป็นต้นไป ทั้งนี้ เงินลงทุนใน LTF จะต้องลงทุนภายในปี 2559


 สิทธิประโยชน์ทางภาษี
หากปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน ผู้ลงทุนใน LTF จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีถึง 2 ทางด้วยกัน คือ

1)      เงินลงทุนในกองทุน LTF สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของ
เงินได้ในปีภาษีนั้น แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

           2)  กำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ แต่หากมีการลงทุนเกิน 15% ของเงินได้ หรือเกิน 500,000 บาท เมื่อขายคืนหน่วยลงทุนแล้วมีกำไร ผู้ลงทุนจะต้องนำกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) นับเฉพาะเงินลงทุนส่วนที่เกิน ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

หากขายคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนด 5 ปีปฏิทิน ถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกต่อไป และต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นไป พร้อมเงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือน ทันทีที่ผิดเงื่อนไข  และต้องเสียภาษีสำหรับกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไข

สรุป :  การลงทุน LTF เหมาะกับผู้ลงทุนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ในระดับสูง เนื่องจากเป็นการลงทุนในหุ้น  และพร้อมที่จะลงทุนในระยะยาว ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ที่สำคัญผู้ลงทุนควรจัดสรรเงินมาลงทุน โดยคำนึงถึงหลักการกระจายความเสี่ยง (Asset Allocation)   มิใช่นำเงินลงทุนทั้งหมดที่มีมาลงทุนใน LTF เพียงอย่างเดียว และหลังจากตัดสินใจลงทุนใน LTF แล้ว ก็ไม่ควรทำผิดเงื่อนไขนะคะ ระวังจะเป็นเหมือนเม่าในตอนนี้....






วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เรียนรู้ลงทุนกับ ก.ล.ต. :: สุขสบายยามบั้นปลายกับ RMF

   ช่วงปลายปี เป็นช่วงที่บุคคลธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ จะหาวิธีใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี ซึ่งการลงทุนใน  RMF (Retirement Mutual Fund) หรือ “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” ก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการลดหย่อนภาษี และเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินเพื่อการเกษียณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ยังไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณรองรับ เช่น คนที่ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นต้น รวมถึงผู้ที่มีสวัสดิการ แต่ต้องการที่จะออมเพิ่มเติมให้มากขึ้น
 
เนื่องจากการลงทุน RMF มีระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนาน กองทุน RMF จึงมีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายเหมือนกองทุนรวมทั่วไป ตั้งแต่กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ เน้นลงทุนในตราสารหนี้ ไปจนถึงกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูง เน้นลงทุนในตราสารทุน (หุ้น) หรือ สินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ

การลงทุน RMF เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี มีเงื่อนไขดังนี้
- เริ่มลงทุนแล้ว ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยซื้อหน่วยลงทุนของ RMF ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง
- ลงทุนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือ 5,000 บาท (แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า)
- ต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปี ติดต่อกัน
- ลงทุนและถือหน่วยลงทุนจนผู้ลงทุนอายุครบ 55 ปี และลงทุนมาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก (การนับ 5 ปี ให้นับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุนเท่านั้น)
 
หากทำตามเงื่อนไขได้ จะได้สิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีถึง 2 เด้ง คือ
1. เงินลงทุนใน RMF สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง
2. กำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ได้รับการยกเว้นภาษี
 
แต่ในกรณีผิดเงื่อนไขการลงทุน
- กรณีที่ลงทุนไม่ถึง 5 ปี 
1.ต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (นับตามปีปฏิทิน) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไข
2. ต้องเสียภาษี capital gain ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ขายคืน
-กรณีที่ลงทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
1. ต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นไปในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (นับตามปีปฏิทิน) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไข
 
สรุปง่ายๆ ก็คือ ถ้าเริ่มซื้อ RMF ไปแล้ว และกลัวผิดเงื่อนไข (เพราะเงื่อนไขยุบยับมาก) ก็ควรจะตั้งเวลาให้ตัวเองซื้อทุกต้นปีไปเลย ปีละ 5000 บาท เพื่อกันลืม และถ้าจะซื้อเพิ่มก็ค่อยซื้ออีกทีภายหลัง เพราะถ้าผิดเงื่อนไขการลงทุนต้องคืนภาษียาวเลยนะคะ เกิดเผลอเรอขึ้นมาจะน้ำตาตกเหมือนเม่า T^T
 



วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เรียนรู้ลงทุนกับ ก.ล.ต. :: กองทุนไหนที่ใช่เรา

คำถามสุดคลาสสิคของผู้ที่คิดจะเริ่มลงทุนในกองทุนรวมคือ "ซื้อกองไหนดี ?"

บ่อยครั้ง เรามักจะถามเพื่อนๆ ที่ลงทุนอยู่ก่อนแล้ว (ขนาดอิฉันเองยังมีคนมาถามเลยนะเนี่ย ไม่แน่ใจว่าเขามีความคาดหวังอะไรจากเม่า หรือเขาอาจไม่รู้ก็ได้ว่าเราเป็นเม่า) ถ้าเจอเพื่อนไม่ดี เพื่อนอาจจะแกล้งบอกกองห่วยๆ มาให้เรา  แต่ถึงจะได้เพื่อนดี ที่รักและหวังดีต่อเราจริงๆ ก็เถอะ ก็ไม่ควรลอกกองทุนเพื่อนอยู่ดี เพราะแต่ละคนรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน การลอกกองทุนเพื่อน เป็นสิ่งต้องห้ามพอๆ กับการยืมชุดชั้นในเพื่อนมาใส่ เพราะยากมากที่ไซส์จะเท่ากัน ใส่ไปก็ไม่สบายตัว เผลอๆ เสียทรง เราจึงควรหากองทุนที่เหมาะกับตัวเองดีกว่า

กองทุนรวมแต่ละประเภทมีระดับความเสี่ยงและผลตอบแทน(ที่คาดว่าจะได้รับ)ต่างกัน ซึ่งความเสี่ยงของแต่ละกองทุน ขึ้นอยู่กับว่ากองทุนนั้นนำเงินไปลงทุนในอะไร ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม เราจะต้องทำแบบประเมิน Suitability Test  เพราะจะทำให้รู้ว่าความสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน และรู้ว่าเหมาะกับการลงทุนในกองทุนรวมแบบไหน (ซึ่งสมัยนี้ ตอนไปซื้อเขาจะบังคับให้ทำอยู่แล้ว แม้เราจะขี้เกียจทำก็ตาม และถ้าซื้อกองทุนที่เกินความเสี่ยงที่รับได้ ต้องเซ็นต์ยินยอมด้วย)
กองทุนรวมมีนโยบายการลงทุนเป็นสิบ ๆ แบบ ต้องแน่ใจว่ากองทุนที่กำลังจะเลือกตรงใจเราจริงๆ

- ถ้าต้องการผลตอบแทนค่อนข้างสูง และรับความเสี่ยงได้สูง แนะนำกองทุนรวมหุ้น ซึ่ง บลจ. แต่ละแห่งอาจมีจุดขายแตกต่างกันไป บางกองทุนลงทุนในหุ้นเต็มที่ตลอดเวลา บางกองทุนลงทุนเฉพาะหุ้นบริษัทใหญ่ๆ 50 อันดับแรก 30 อันดับแรก บางกองทุนเน้นลงทุนหุ้นเฉพาะกลุ่มหรือหุ้นที่จ่ายปันผล เป็นต้น

- ถ้าไม่ชอบหุ้น หรือรับความเสี่ยงได้น้อย แนะนำกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่ลงทุนเฉพาะในพันธบัตร หรือตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นต้น

- ถ้าต้องการให้เงินต้นไม่สูญหายแม้แต่แดงเดียว แนะนำกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น 100% หรือกองทุนรวมมีประกัน ซึ่งรับประกันว่าเงินอยู่ครบ แต่บางกองทุนอาจมีเงื่อนไขว่าคุ้มครองเงินต้นแค่ 80% หรือรับประกันแค่ 90% เป็นต้น ต้องดูดีๆ

- นอกจากนี้ยังมีกองทุนรวม ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่ส่งเสริมการออมเพื่อวัยเกษียณ หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในหุ้นโดยกองทุนทั้งสองประเภทนี้ จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วยหากปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน (มนุษย์เงินเดือนมืออาชีพ จะรู้จักกันดี)

และถึงแม้ว่าจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมกับตัวเองแล้ว เราก็ควรกระจายความเสี่ยงโดยการจัดสรรเงินบางส่วนไปลงทุนกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนอื่นๆ ด้วย เช่น หากลงทุนในกองทุนรวมหุ้น เมื่อตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาลง ก็อาจได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนอื่นมาทดแทนบ้าง พอให้มีแรงต่อสู้ชีวิตต่อไป ^^




 

(พื้นที่โฆษณา) ตอนนี้พี่เม่าเปิดให้ Pre Order เสื้อกระทิงนะจ๊ะ สั่งซื้อได้ถึงวันที่ 10 พ.ย. จ้า จัดส่งประมาณ 10 ธ.ค.
สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน http://www.maoinvestor.com/p/blog-page_25.html
ขอบคุณที่อุดหนุนนะจ๊ะ

วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เรียนรู้ลงทุนกับ ก.ล.ต. :: NAV คืออะไร

นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวม คงรู้จักคุ้นเคยกับคำว่า “NAV”  หรือ Net Asset Value เป็นอย่างดี
เพราะ “NAV” เป็นตัวเลขที่บอกถึงมูลค่าที่แท้จริงของกองทุนรวม ซึ่งบอกผู้ถือหน่วยลงทุนว่า หากจะซื้อหรือขายคืนกองทุนรวม จะได้ที่ราคาประมาณเท่าไหร่
 
NAV จึงเป็นตัวเลขที่สะท้อนผลการดำเนินงานของกองทุนรวมได้ดีที่สุด เพราะการเปลี่ยนแปลงของ NAV ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบว่า แต่ละกองทุนรวมนั้นบริหารแล้วทำให้ได้กำไรหรือขาดทุนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งโดยปกติ NAV จะมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน การที่ NAV เพิ่มขึ้นหรือลดลง ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของกองทุนรวม
 
โดย บลจ. จะเป็นผู้ทำการคิดคำนวณราคา NAV ขึ้นมา และเปิดเผยให้ผู้ลงทุน ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้รับทราบอย่างเป็นประจำและสม่ำเสมอ ในกรณีของ “กองทุนปิด” ก็จะประกาศให้ผู้ลงทุนทราบทุกวัน
ทำการสุดท้ายของสัปดาห์ สำหรับกรณีของ “กองทุนเปิด” จะประกาศให้ทราบทุกวันทำการที่มี
การซื้อขายหน่วยลงทุน โดยสามารถดู NAV ได้จากหลายแหล่ง อาทิ หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวัน สอบถามจาก บลจ.ที่บริหารกองทุนรวมนั้น ดูจากเว็บไซต์ของแต่ละ บลจ. หรือที่ www.thaimutualfund.com ก็ได้
 
ข้อควรระวัง สำหรับนักลงทุนที่เพิ่มเริ่มลงทุนในกองทุนรวมใหม่ๆ มีหลายท่านเข้าใจผิดคิดว่าซื้อกองทุนที่ NAV ต่ำๆ จะมีโอกาสทำกำไรมากกว่า เพราะว่าราคายังไม่วิ่ง แต่ว่าจริงๆ แล้วการคำนวณราคา NAV ไม่เหมือนหุ้น สิ่งที่นักลงทุนควรใช้ในการตัดสินใจในการซื้อกองทุนรวม ไม่ใช่ราคา NAV ที่ต่ำหรือสูง แต่ควรดูการเปลี่ยนแปลงของ NAV มากกว่านะจ๊ะ ^^
 
 




วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บทวิเคราะห์

เชื่อว่ายามเช้าของนักลงทุนหลายท่านคงเริ่มต้นวันด้วยการอ่าน "บทวิเคราะห์" ที่สรุปภาวะความเป็นไปของตลาดในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงพยากรณ์ตลาดหุ้นในอนาคตอันใกล้

จากการอ่านบทวิเคราะห์มาเป็นระยะเวลาหลายปี ทำให้อิฉันเริ่มจับ pattern ได้ 5555+
เพราะบ่อยครั้งตลาดก็ทำตัวไม่มีเหตุผล แต่นักวิเคราะห์ก็จำเป็นต้องหาสาเหตุมาอธิบาย แม้บางครั้งจะฟังดูแปลกๆ แต่นักวิเคราะห์ก็ยังต้องคงวิเคราะห์ และเราก็ยังคงรออ่านอยู่ทุกวัน

เพราะไม่ว่าตลาดจะเป็นอย่างไร ทุกคนในตลาดหุ้นก็ยังต้องทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป :-)




วันนี้ (6 ตค) เป็นวันสุดท้ายของการโหวต Thailand Blog awards แล้วค่ะ ขอคะแนนสุดท้ายจากทุกท่านนะคะ ขอบคุณมากค่ะ ^^

โหวตได้ตามลิงก์นี้เลยค่ะ http://www.thailandblogawards.com/entry/view/341




และเนื่องจากอิฉันได้รับเกียรติจากทาง Pantip.com ให้เป็นแขกรับเชิญในงานเสวนาหัวข้อ "จากกระทู้ สู่หนังสือ @Pantip.com" ในกิจกรรม Book for Sharing at Siam
ในวันเสาร์ ที่ 12 ตุลาคมนี้ เวลา 15.00 น. - 16.00 น. ณ เวทีบริเวณ Grand Hall ชั้น 1 Siam Discovery
ถ้ามีเวลาว่างก็มาพบปะกันได้ค่า อย่าลืมเอาหนังสือมาบริจาคด้วยนะคะ เห็นว่าใครหิ้วหนังสือมาบริจาคในงานจะได้ของที่ระลึกกลับบ้านด้วย ^^
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://pantip.com/topic/31060771 ค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

เรียนรู้ลงทุนกับ ก.ล.ต. :: กองทุนเปิด VS กองทุนปิด

กองทุนรวมมีหลายประเภทผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับความต้องการหรือเป้าหมายทางการเงินของตนเองได้
ซึ่งสามารถแบ่งตามประเภทของการขายคืนหน่วยลงทุน ได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. กองทุนเปิด (Opened - End Fund) คือ กองทุนรวมที่สามารถขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมและต่อเนื่องได้หลังจากที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุนในครั้งแรกไปแล้ว รวมถึงสามารถรับซื้อคืนหน่วยลงทุนจากนักลงทุนเมื่อใดก็ได้ตลอดเวลา กองทุนประเภทนี้จึงเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เพราะสามารถซื้อขายได้ง่ายและสะดวก และมีสภาพคล่องสูงกว่ากองทุนปิด

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจะยังไม่ทราบว่าราคาซื้อขายหน่วยลงทุนจะเป็นเท่าไรในทันที ณ เวลาที่ทำรายการสั่งซื้อขายนั้น เนื่องจากต้องคอยจนกว่าจะมีการคำนวณ NAV (Net Asset Value: NAV) ต่อหน่วยของกองทุน ณ สิ้นวันทำการเสียก่อน

2. กองทุนปิด (Closed - End Fund) คือ กองทุนรวมชนิดที่ บลจ. ไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยจะมีการกำหนดอายุโครงการอย่างชัดเจนแน่นอน และเปิดให้มีการจองซื้อหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียวเมื่อเริ่มต้นโครงการหลังจากนั้นก็จะไม่มีการออกขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมแต่อย่างใด ทำให้จำนวนของหน่วยลงทุนของกองทุนคงที่ ไม่มีการเพิ่มขึ้น หรือลดลง สามารถขายคืนเมื่อครบกำหนดอายุโครงการเท่านั้น(ราคาที่ บลจ. รับซื้อคืนหน่วยลงทุนจะมีมูลค่าเท่ากับ NAV ต่อหน่วย เมื่อครบกำหนดอายุโครงการแล้ว)

ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในกองทุนปิด นักลงทุนควรคิดพิจารณาให้ดีเสียก่อนว่าระยะเวลาการลงทุนในกองทุนนั้นมีความสอดคล้อง และเหมาะสมกับระยะเวลาที่ตนเองต้องการใช้เงินในอนาคตหรือไม่ เพราะการลงทุนในกองทุนปิดถือเป็นการลงทุนในระยะยาว และมีสภาพคล่องในการซื้อขายน้อย

อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายให้แก่นักลงทุน ทาง บลจ. สามารถนำหน่วยลงทุนของกองทุนปิดที่ตนเป็นผู้บริหารไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดรอง เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ แต่จะต้องมีการเปิดบัญชีซื้อขายกับบริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ก่อน จึงจะสามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้

ดังนั้นก่อนลงทุนในกองทุนรวมประเภทไหนต้องศึกษาและวางแผนให้ดีก่อนนะคะ ไม่เช่นนั้นอาจได้รับบทเรียนแบบเม่าก็ได้



อ่านจบแล้ว ถ้าเห็นว่าบล็อกนี้เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน ก็ช่วยโหวตเป็นกำลังใจให้พี่เม่าหน่อยนะจ๊ะ ในงานประกวด Thailand blog award 2013 จ้า ขอบคุณทุกท่านจ้า

ตามลิงก์นี้เลย โหวตโลดดด http://www.thailandblogawards.com/entry/view/341



 

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

หมาลากเลื่อน

ตอนนี้ไม่เกี่ยวกับหุ้นนะจ๊ะ อิอิ แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับพี่เม่าและอัลฟรองเซ่แอนด์เดอะแกงค์ อ่านจบแล้วก็อย่าลืมช่วยกันโหวตบล็อกเป็นกำลังใจให้พี่เม่าด้วยนะคะ ขอบคุณทุกท่านจ้า http://www.thailandblogawards.com/entry/view/341




 
 

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

รู้ทันหุ้นกับพี่เม่า

ประกาศโปรดทราบ ^^
หนังสือซีรีย์พี่เม่า ได้ออกวางแผงแล้วจ้า
เล่มนี้เม่าค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่ขึ้น (แต่ยังเป็นเม่าอยู่) และมีเนื้อหาสาระเพิ่มขึ้น แน่นขึ้นกว่าที่อ่านในบล็อกจ้า ยังไงก็ฝากติดตามด้วยนะคะ ซื้ออ่านเองหรือซื้อฝากลูกฝากหลานก็ได้ค่ะ อิอิ ขอบคุณทุกท่านค่ะ
หาซื้อได้ที่ซีเอ็ดทุกสาขา และตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปค่ะ ราคาเล่มละ 200 บาท
หรือซื้อผ่านเว็บซีเอ็ดได้ลด 5% ค่ะ

 



วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

ขอเชิญร่วมโหวตบล็อกแมลงเม่าในงาน Thailand Blog Awards 2013

ปีนี้พี่เม่าได้ส่งตัวเองเข้าประกวด Thailand blog award 2013
ขอเชิญทุกท่านช่วยกันโหวตบล็อกพี่เม่าให้ผ่านเข้ารอบหน่อยนะจ๊า ^^

โหวตได้ตามลิงก์นี้เลย (โหวตได้ทุกวันวันละหนึ่งครั้ง จนถึงวันที่ 6 ตค จ้า)
http://www.thailandblogawards.com/entry/view/341

 

วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

เรียนรู้ลงทุนกับ ก.ล.ต. :: รู้จักกองทุนรวม

Step แรกของการลงทุนของหลายๆ ท่านคือการลงทุนผ่านกองทุนรวม
 
กองทุนรวม คือ การลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ผู้ลงทุนหลายๆ คนนำเงินลงทุนมารวมกัน และมอบหมายให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการลงทุน และได้รับใบอนุญาตในการบริหารจัดการกองทุนรวมจาก ก.ล.ต.
 
บลจ. ทำหน้าที่บริหารกองทุนรวมให้เกิดดอกออกผล โดยนำเงินลงทุนของกองทุนรวมไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น เป็นต้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนรวมนั้น  โดยผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนได้รับจากการลงทุนในกองทุนรวมอาจเป็นในรูปเงินปันผล (กรณีกองทุนรวมมีนโยบายจ่ายเงินปันผล) หรือ กำไรส่วนเกินทุน (กรณีที่มูลค่าหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นและผู้ถือหน่วยลงทุนขายคืนหน่วยลงทุน)
 
ข้อดีของการเลือกลงทุนในกองทุนรวม
  • มีมืออาชีพ คือ บลจ. บริหารเงินให้เรา โดย บลจ. จะมีผู้จัดการกองทุนที่มีความรู้และประสบการณ์ทำหน้าที่ในการดูแลเงินลงทุน จึงเหมาะกับผู้ที่ไม่มีเวลาติดตามการลงทุนอย่างใกล้ชิดด้วยตนเอง
  •  
  • มีการกระจายความเสี่ยงนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารที่หลากหลาย
  •  
  • มีเงินน้อยก็ลงทุนได้ บางกองทุนรวมมีเงินเพียงหลักพันบาทก็เปิดบัญชีซื้อขายกองทุนรวมได้
  •  
  • มีสภาพคล่อง (กรณีกองทุนเปิด) ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถขายคืนได้ตามเวลาที่ บลจ.กำหนด
  •  
  • มีช่องทางในการซื้อขายที่หลากหลาย เช่น ผ่านตัวแทนขายของ บลจ. ผ่าน ATM ผ่าน internet เป็นต้น

ข้อจำกัดของการลงทุนในกองทุนรวม
  • ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่สามารถเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุนเป็นรายตัวได้ เช่น หากรู้สึกไม่ชอบหุ้นของบางบริษัทที่กองทุนรวมเลือกลงทุนก็ต้องยอบรับการตัดสินใจลงทุนของผู้จัดการกองทุนนั้นๆ
  •  
  • กองทุนรวมมีค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง เช่น ค่าธรรมเนียมในการจัดการกองทุนรวม แม้จะไม่มีการซื้อขายหน่วยลงทุนเพิ่มในช่วงเวลาที่ลงทุนก็ตาม(ต่างจากกรณีที่ลงทุนโดยตรงผ่านโบรกเกอร์ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย หรือ Brokerage fee เฉพาะเมื่อมีคำสั่งซื้อหรือขายเท่านั้น)
สำหรับคนที่อยากลงทุนแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี การลงทุนผ่านกองทุนรวมก็เป็นทางเลือกที่ดี สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์และเวลาค่ะ ^^




วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

ทุนนิยม

ในระบบทุนนิยม ที่มี"เงิน"เป็นพลังงานขับเคลื่อน และการแข่งขันอย่างเสรี ผู้ขยันทำงานก็ได้ผลตอบแทนอย่างงามเป็นรางวัล แต่แท้ที่จริงแล้ว ผู้ที่อยู่ใต้ระบบนี้จะต้องทำงานไปเรื่อยๆ เพื่อแลกกับเงินเพื่อประทังชีวิต เหมือนหนูที่อยู่ในกรง กินอาหารดีๆ แต่ต้องถีบจักรตลอดเวลาให้กับนายทุน

ซึ่งการจะหลุดออกจากวงโคจรนี้ได้ แนวทางหนึ่งคือการมี passive income คือรายรับที่เราไม่ต้องเหนื่อยทำงาน คือการเป็นอิสระทางการเงินนั่นเอง
แต่การได้มาซึ่ง passive income บางอย่างนั้น ก็ยังอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมเหมือนกันนะจะบอกให้



 

วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เรียนรู้ลงทุนกับ ก.ล.ต. :: ข่าวลือข่าวลวง

หนึ่งในเหตุผลที่นำมาซึ่งผลขาดทุนของนักลงทุนทั้งหลายคือ การซื้อขายตาม “ข่าวลือ”

ข่าวลือ คือข่าวที่พูดกันทั่วไป แต่ยังไม่มีอะไรยืนยันได้แน่นอน ซึ่งในทางการเงิน ความไม่แน่นอนคือความเสี่ยง

ข่าวลือในตลาดหุ้นมีสารพัดเรื่อง เช่น จะมีการเพิ่มทุน จะแจกใบสำคัญแสดงสิทธิ (warrant) จะประมูลโครงการใหญ่สำเร็จ จะซื้อหรือควบรวมกิจการ เป็นต้น ถ้าผู้ลงทุนหลงเชื่อในสิ่งที่ได้ยินทุกเรื่อง โดยไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องก่อนซื้อขายหุ้นตัวใดก็ตาม มีโอกาสที่จะขาดทุนมากกว่าโอกาสที่จะได้กำไรแน่นอน

หลายครั้งที่นักลงทุนได้รับข้อมูลจากการบอกต่อกันมา โดยอ้างว่ามีแหล่งที่มาจากคนในบริษัทนั้นๆ อินไซด์สุด ๆ มักจะใช้คำพูดว่า “ข่าวจากคนในเลยนะเนี่ย” “ข่าวอินไซด์ รู้กันไม่กี่คนหรอก” เช่น มีข่าวว่าบริษัท A กำลังจะได้งานประมูลชิ้นใหญ่ ซึ่งจะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ (อย่าเพิ่งเคลิ้ม เพราะเป็นแค่เรื่องที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเท่านั้น) ซึ่งอนาคตจะเป็นจริงตามข่าวหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ

สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คือ คนที่ได้รับข่าวนั้นก็แห่กันเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทนั้น  เพื่อเก็งกำไร  ซึ่งตามหลักอุปสงค์อุปทาน  เวลาที่มีคนต้องการหุ้นตัวใดมาก ๆ จะเกิดการแย่งกันซื้อ ราคาจะดีดตัวสูงกว่าความเป็นจริง แต่ในเวลาต่อมา ก็มีข่าวใหม่ออกมาอีกว่าไม่ได้งานประมูลแล้วผลก็คือราคาร่วงกลับมาที่เดิม คนที่หลงเข้าไปซื้อตอนราคาสูงก็เกิดอาการ “ติดดอย” กันถ้วนหน้า

ดังนั้น หากใครเขามาปล่อยข่าว(ดี) แบบนี้ ให้เช็คข้อมูลให้ดีเสียก่อน  เพราะเขาคนนั้นอาจจะซื้อหุ้นของบริษัทตุนไว้จนเต็มพอร์ตแล้วแล้วค่อยมาสร้างข่าวว่าหุ้นตัวนั้นจะดี เพื่อให้รุมกันซื้อและราคาหุ้นก็จะสูงขึ้นจนเป็นที่พอใจ แล้วเขา(คนเดิม) ก็จะขายทำกำไร

ในส่วนของ ก.ล.ต. มีหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบ หากพบว่าผู้ใดมีพฤติกรรมการปล่อยข่าวเท็จที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าราคาหุ้นจะสูงขึ้นหรือต่ำลง หรือผู้ใดก็ตามที่ซื้อขายหุ้นในลักษณะที่นำไปสู่สภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผิดปกติจนทำให้คนอื่นหลงผิด ผู้นั้นอาจเข้าข่ายมีความผิด ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่น้อยกว่า 2 เท่าของผลประโยชน์ที่ได้รับ

ถึงแม้ทางการจะมีมาตรการที่เข้มงวดขนาดไหน  ผู้ลงทุนควรต้องปกป้องตนเอง โดยการไม่หลงเชื่อข่าวลือง่ายๆ  ควรใช้วิจารณญาณในการบริโภคข่าวและหาทางตรวจสอบความถูกต้องของข่าวนั้น ๆ ด้วย เพราะถึงแม้ว่าจะไม่เชื่อข่าวลือแบบปากต่อปาก แต่แหล่งข่าวที่ดูน่าเชื่อถือ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ก็ยังเคยเสนอข่าวผิดหลายครั้ง แหล่งข้อมูลที่จะช่วยยืนยันได้ว่าข่าวนั้นเป็น ข่าวลือ หรือ ข่าวกรอง ก็คือเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. www.sec.or.th และเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  www.set.or.th ถึงอาจจะไม่รวดเร็วทันใจดุจข่าววงใน แต่ก็เชื่อถือได้แน่นอน

พึงระลึกไว้เสมอว่า ตกรถดีกว่าติดดอย นะจ๊ะ